เทคนิคการเตรียมตัวสอบพนักงานราชการ
1. เตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมสำหรับการสอบ การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก การคัดเลือกในภาคราชการมีระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการด้วยระบบคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสอบ จึงต้องเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน คือ
1.1 จัดหาเอกสารหรือหนังสือสำหรับเตรียมสอบ วิธีการหาหนังสือหรือเอกสารเตรียมสอบ มีดังนี้
•หนังสือหรือเอกสารมีเนื้อหาที่ตรงตามหลักสูตรสอบแข่งขันฯ มีเนื้อหาสาระใหม่ ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน
•เลือกหนังสือทั้งที่เป็นเนื้อหาโดยละเอียด เนื้อหาสรุปและหรือหนังสือที่เป็นแบบฝึก
•เลือกหนังสือหลายๆ เล่ม เจ้าของหรือผู้แต่งที่เชื่อถือได้
•ควรเลือกหนังสือภาคความรู้ทั่วไป เช่น หนังสือวัดความถนัดต่าง ๆ เป็นตั้น พร้อมทั้งมีตัวอย่างแบบฝึกและข้อสอบ
•ควรเลือกหนังสือเฉพาะเรื่อง ในภาคการศึกษา เช่น จิตวิทยาการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษาหลักสูตรและการสอน เป็นต้น ส่วนมากจะมีในสถาบันการศึกษา และหนังสือเตรียมสอบทั่วไปซึ่งส่วนมากจะเป็นเนื้อหาโดยสรุป
•ภาคกฎหมายการศึกษาหรือกฎหมายปฏิบัติราชการ หนังสือที่เหมาะคือหนังสือเตรียมสอบโดยทั่วไปเพราะมีทั้งเนื้อหาโดยละเอียดและสรุปไว้แล้ว มีตัวอย่างแบบทดสอบให้ทำด้วย
•ภาควิชาเฉพาะวุฒิหรือวิชาเอก ควรเลือกหนังสือ ตำราเรียน หนังสือสรุปเนื้อหา หรือหนังสือเตรียมสอบเข้าเรียนระดับชั้นต่างๆ ไม่ควรยึดหนังสือเตรียมสอบฯเป็นหลักเพราะเนื้อหามีน้อย
•หนังสือรวมข้อสอบฯ หรือหนังสือที่มีตัวอย่างข้อสอบให้ฝึกทำ ก็เป็นสิ่งจำเป็นควรมีไว้เพื่อฝึกทักษะการทำข้อสอบ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้
1.2. วิธีการอ่านหนังสืออย่างไรให้จำได้เร็ว เทคนิคการอ่านหนังสือ มีดังนี้
•ศึกษาหลักสูตรการสอบแข่งขันฯ ให้เข้าใจและจัดหมวดหมู่ของเนื้อหา หนังสือ
•ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ควรศึกษาโดยวิธีฝึกทำข้อสอบ ดูเฉลยและทำความเข้าใจ เรื่องไหนที่ยากควรทำจุดสังเกตไว้ในหนังสือหรือบันทึกสรุปวิธีการหรือหลักการหาคำตอบไว้ในสมุดบันทึกใช้ทบทวนในคราวต่อไป
•วิชาการศึกษา ควรศึกษาเป็นเรื่องๆ ตามกรอบหลักสูตรสอบฯโดยใช้หนังสือหรือเอกสารหลายๆเล่มประกอบกัน ทำจุดสังเกตไว้ในหนังสือ หรือสรุปเนื้อหาไว้ในสมุดบันทึก ใช้ทบทวนในคราวต่อไป
•วิชาเอกหรือวิชาเฉพาะวุฒิ ควรศึกษาในสองลักษณะ คือ ลักษณะการจัดการเรียนการสอนวิชานั้นและเนื้อหาสาระของวิชานั้นๆ ในประเด็นสำคัญ สรุปและบันทึกสาระสำคัญเอาไว้ ฝึกทำข้อสอบวิชานั้น ๆ
•ควรวางแผนในการศึกษาหรืออ่านหนังสือทั้งในเรื่องสถานที่ เวลา เนื้อหาวิชาตามความถนัดและความสะดวกของตนเอง เวลาที่เหมาะสำหรับอ่านหนังสือที่บ้านควรจะเป็นตอนเช้าประมาณ 04.00 -06.00 นาฬิกา
•นอกจากการศึกษาเอกสารแล้วสื่อเอกสารอย่างอื่นก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น การพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน การสอบถามหรือปรึกษากับครู อาจารย์ หรือผู้รู้ฯ การเข้ารับการอบรมสัมมนา(ติวสอบฯ) เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรู้ความเคลื่อนไหวปัจจุบัน
•การติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากเพราะเนื้อหาเหล่านี้จะกำหนดในหลักสูตรสอบฯ และออกข้อสอบทุกครั้ง
1.3. วางแผนในการสอบอย่างไรให้ได้ผล ควรวางแผนการสอบตั้งแต่การเดินทาง การเข้าที่พัก การไปดูสนามสอบหรือห้องสอบ การทำข้อสอบและการเดินทางกลับ ดังนี้
•ควรออกเดินทางไปถึงสถานที่หรือภูมิภาคสอบฯ อย่างน้อย 1วัน เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน ไปดูสนามสอบฯ
•เตรียมเอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ หรือของใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง สิ่งที่จะลืมไม่ได้ คือ บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบฯ ปากกา ดินสอ และยางลบ (ใช้สำหรับฝนหรือระบายข้อสอบ) ยารักษาโรคประจำตัว(ถ้ามี) และหนังสือหรือสรุปย่อเนื้อหาที่ได้จัดทำไว้แล้ว
•คืนก่อนสอบ ให้ทบทวนเนื้อหาตามหลักสูตรสอบฯ เล็กน้อย หลังจากนั้นให้รีบเข้านอน
•ในวันสอบ หลังจากภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ควรไปถึงสนามสอบก่อนเวลาสอบ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
•ก่อนถึงเวลาสอบประมาณ 5-10 นาที ควรตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง เข้าห้องน้ำทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย
•เมื่ออยู่ในห้องสอบให้ปฏิบัติตามระเบียบของการสอบ หรือตามที่กรรมการคุมห้องสอบชี้แจง ให้ตั้งสติ ให้ดี มีสมาธิและวางแผนการทำข้อสอบ
1.4. การบริหารจัดการระหว่างทำข้อสอบกรณีข้อสอบเป็นปรนัย (ชนิดตัวเลือก)
•การบริหารเวลาในการสอบโดยตรวจสอบเวลาที่จะใช้ในการทำข้อสอบ แล้วคำนวณระยะเวลาในการทำข้อสอบ (โดยปกติมาตรฐานข้อสอบจะใช้เวลาทำข้อละ 1 นาที )ให้ชำเลืองดูนาฬิกาขณะทำข้อสอบเป็นระยะ ทำข้อสอบทีละข้อ โดยอ่านคำถามและทำความเข้าใจอย่างละเอียด
•กรณีข้อสอบที่ต้องใช้วิธีคำนวณหรือจำเป็นต้องขีดเขียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ให้ขีดเขียนลงในกระดาษคำถามได้ (อย่าใส่ใจกับข้อห้ามที่บอกว่าห้ามขีดเขียนใดๆ ลงบนข้อสอบเกินไปนัก)
•เมื่อทำข้อสอบครบทุกข้อแล้ว หากยังเหลือเวลาอย่าเพิ่งรีบออกจากห้องสอบให้กลับมาทบทวนข้อที่ยากหรือยังทำไม่ได้
•หากใกล้หมดเวลาสอบแล้วยังทำไม่เสร็จ หรือข้อสอบจำนวนมาก ให้ใช้วิธีการเดา
1.5. การบริหารจัดการระหว่างทำข้อสอบกรณีข้อสอบเป็นอัตนัย (อธิบาย)
•ตรวจสอบดูว่าข้อสอบมีกี่หน้า คำถามครบทุกข้อหรือไม่ และอ่านคำชี้แจงให้เข้าใจ โดยเฉพาะประเด็นให้ทำกี่ข้อ
•ให้ทำข้อที่ง่ายก่อน วางกรอบหรือทิศทางของคำตอบว่าจะตอบอะไรก่อนหลัง ควรอธิบายให้ชัดเจน กะทัดรัด แต่ตรงประเด็นมากที่สุด ไม่ควรบรรยายแบบน้ำท่วมทุ่ง เพื่อให้ได้คำตอบมากๆ ครบจำนวนหน้ากระดาษเท่านั้น และควรเขียนอย่างบรรจง ประณีตที่สุดเท่าที่จะทำได้
1.6. การปฏิบัติตัวหลังจากสอบเสร็จ ควรทำใจให้สบายถ้าหากเรามั่นใจและเตรียมตัวมาอย่างดี เราต้องสอบได้แน่ๆ หากเป็นเวลาพักเที่ยงควรรีบไปรับประทานอาหารกลางวันให้อิ่มและพักผ่อน หรือถ้าไม่มีสอบแล้วให้กลับไปพักผ่อนและเตรียมตัวสอบในวันถัดไป
2. เทคนิคการเลือกคำตอบที่ถูก
2.1. เทคนิคการเลือกคำตอบข้อสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป คือ ต้องรู้ หลักการ วิธีการคิด สูตรทางคณิตศาสตร์หรือพีชคณิต การฝึกทำข้อสอบประเภทนี้บ่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้รู้ จำ และเข้าใจหลักการ วิธีการคิด หรือสูตรการคิดได้อย่างรวดเร็วและจะทำเกิดความมั่นใจในที่สุด
2.2 เทคนิคการเลือกคำตอบข้อสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ลักษณะคำถาม 20 ประเภท ของข้อสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง โดยสรุปพอสังเขป ได้แก่
•คำถามเกี่ยวกับพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์
•คำถามเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวหรือแนวโน้มใหม่ทางด้านการศึกษา
•คำถามเกี่ยวกับความรอบรู้ (ความเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการปกครองและการต่างประเทศ)
•คำถามที่เกี่ยวกับ มติหรือนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีในหลักสูตรการสอบแข่งขันหรือการคัดเลือก•คำถามเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
•คำถามเกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด ทฤษฎีหรือสาระสำคัญ หลักการ ของเรื่องนั้นๆ
•คำถามเกี่ยวกับ วัน เวลา จำนวน สถานที่หรือ ตัวเลข•คำถามเกี่ยวกับ บุคคล หน่วยงาน องค์กรที่ตนเองปฏิบัติงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัด
•คำถามที่มีคำว่า ไม่ ไม่ใช่ ผิด ไม่ถูกต้อง แตกต่างไปจากพวก หรือยกเว้น•คำถามที่เป็นมีศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือสำนวน ให้แปลความ หรืออธิบาย
•คำถามที่มีประเด็นคำถามหลายประเด็นในข้อเดียวกัน•คำถามที่ถามถึงขั้นตอนการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ•คำถามที่ถามถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด
•คำถามที่มีตัวเลือกถูกทุกข้อ หรือถูกหลายข้อ
•คำถามวิเคราะห์ เช่น ความเข้าใจและการนำไปใช้, หลักการ หรือนิยามศัพท์, ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน, สาระตามข้อบัญญัติของระเบียบหรือกฎหมาย, เป้าหมาย ผลลัพท์ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา, ถ้อยคำ วลีที่เป็นตัวชี้วัดของประเด็นคำถาม
3. เทคนิคในการเข้าสอบสัมภาษณ์ การสอบสัมภาษณ์และการให้คะแนน จะพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้
•ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน (ถ้ามี) ประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี)
•บุคลิกภาพด้านต่างๆ รวมทั้งอุปนิสัยของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู
•ท่วงทีวาจา ปฏิภาณไหวพริบ•คุณธรรม จริยธรรม และเจตคติ
•ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
•ความรู้ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
•อื่นๆ ตามหน่วยงานผู้สอบฯกำหนด
การให้คะแนนของการสอบสัมภาษณ์โดยทั่วไป (คะแนนเต็ม 50 คะแนน )
การให้คะแนนของ กรรมการสอบสัมภาษณ์ จะกำหนดช่วงของคะแนนที่จะให้ไว้อย่างชัดเจน เช่น
กำหนดความต่างของคะแนน ผู้เข้าสอบฯไม่เกิน 3 คะแนน ( ต่ำสุด 47 สูงสุด 49 ) หรือ 5 คะแนน (ต่ำสุด 45 สูงสุด 49)
มักไม่นิยมให้คะแนนเต็ม 50 เพราะโดยหลักการแล้วจะไม่มีใครที่เยี่ยมยอด ดังนั้นผู้เข้าสอบสัมภาษณ์จึงไม่ต้องวิตกหรือกังวลมากนัก
สิ่งที่ทำให้สอบได้หรือสอบตกไม่ได้อยู่ที่การสอบสัมภาษณ์แต่อยู่ที่การสอบข้อเขียนต่างหาก
Advertisement