6 ก.พ. 2554

อึ้ง!! ทั่วประเทศขาดครู 4 หมื่น

ขออภัยจ้าเห็นว่าดีเลยเอามาอัพ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดแคลนครูประมาณ 40,000 กว่าคน ส่วนใหญ่จะขาดแคลนในสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มากที่สุด จากการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 10 ปีข้างหน้า ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2562 พบว่าจะมีข้าราชการครูฯ เกษียณอายุราชการรวมทั้งสิ้น 192,285 คน โดยในปีงบฯ 2553 เกษียณ 6,424 คน และปี 2554 เกษียณ 8,422 คน อย่างไรก็ตาม การที่ สพฐ.ได้รับอัตราเกษียณคืนมา 100% นั้น ช่วยทำให้ปัญหาการขาดแคลนครูไม่ได้มีปัญหามากขึ้น และยังมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)หลายแห่งจัดสรรอัตรามาช่วยสอนได้

รายงานข่าวจาก สพฐ.แจ้งว่า สำหรับข้อมูลข้าราชการครูฯ ที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 10 ปี แบ่งเป็น สาขาวิชาต่างๆ อาทิ ได้แก่ ครูประถมศึกษา 28,721 คน ครูภาษาไทย 28,578 คน บริหารการศึกษา 22,549 คน สังคมศึกษา 22,106 คน การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี 19,802 คน คณิตศาสตร์ 16,949 คน วิทยาศาสตร์ 15,502 คน สุขศึกษา/ พลศึกษา 12,181 คน ภาษาต่างประเทศ 11,781 คน และครูศิลปะ 6,098 คน นอกจากนี้ ยังพบว่าครูที่สอนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.นั้น สอนไม่ตรงวิชาเอกประมาณ 26,396 คน แบ่งเป็น สาขาวิชาฟิสิกส์ 1,342 คน เคมี 1,400 คน ชีววิทยา 2,027 คน คณิตศาสตร์ 8,724 คน คอมพิวเตอร์ 5,454 คน และภาษาอังกฤษ 7,449 คน ขณะที่มีครูสอนตรงตามวิชาเอกมีแค่ 57,963 คน

แหล่งข่าวคนหนึ่งใน สพฐ.กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาครูสอนไม่ตรงวุฒิการศึกษานั้น ในปีที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดโครงการอบรมพัฒนาครูสอนไม่ตรงวุฒิร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั่วประเทศ 33 แห่ง มีครูสอนไม่ตรงวุฒิ 4,348 คน เข้าร่วมโครงการพัฒนา จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,000 คน สาเหตุที่ข้าราชการครูฯ เข้าร่วมไม่ครบ เพราะบางส่วนอาจอยู่ในพื้นที่ไกล เดินทางไม่สะดวก แต่ สพฐ.จะดำเนินการอบรมในโครงการดังกล่าวต่อในระยะที่ 2 เพื่อให้ข้าราชการครูฯ ที่สอนไม่ตรงวุฒิได้มาอบรมพัฒนา ทั้งนี้ ข้าราชการครูฯ ที่สอนไม่ตรงวุฒิ และรับการอบรมจะมาจากโรงเรียนขยายโอกาสในระดับมัธยมต้น และเป็นครูที่สอนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ในปี 2553 มีข้าราชการครูฯ ในสังกัด สพฐ.เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่ รีไทร์ 12,800 ราย ซึ่งข้าราชการครูฯที่ขอเออร์ลี่ฯนั้น สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.ส่วนใหญ่อายุราชการเหลือไม่กี่ปี และทำงานมานานแล้ว จึงต้องการเปิดโอกาสให้บรรจุคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน 2.ต้องการไปประกอบอาชีพอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการครูฯ ที่รับราชการตั้งแต่อายุน้อย และอยากไปทำงาน หรือประกอบอาชีพอื่น และ 3.ปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานสอนได้ เนื่องจากเป็นโรคร้ายแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง สำหรับโครงการเออร์ลี่ฯ ในปี 2554 นั้น ขณะนี้ สพฐ.กำลังเร่งสำรวจ โดยให้ข้าราชการครูฯ แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการ โดย สพฐ.ได้รับจัดสรรอัตรามาประมาณ 13,000 ราย

"ข้าราชการครูฯที่จะเข้าโครงการเออร์ลี่ฯ ได้นั้น จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น มีอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป อายุตั้งแต่ 50 ปี และจะต้องมีเหตุผลที่จำเป็นในการขอเออร์ลี่ฯ และต้องดูสาขาที่เออร์ลี่ฯ ด้วยว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนหรือไม่" นายเสน่ห์กล่าว

ขอบคุณบทความจาก มติชน
Advertisement